ฮีทสโตรก (โรคลมแดด) ภัยอันตรายช่วงหน้าร้อน

เข้าสู่เดือนเมษา ขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุด หลายจังหวัดในประเทศไทยมีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จนติด 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เสี่ยงต่อโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก เป็นโรคอันตรายถึงชีวิต ฮีตสโตรกจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะสามารถทำลายอวัยวะต่างๆ ได้ทันที รวมถึงสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้า ความเสียหายจะรุนแรงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทุพพลภาพในระยะยาว มาเรียนรู้กันว่าอาการของโรคลมแดดเป็นอย่างไร สัญญาณเตือนที่ควรสังเกตมีอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกันโรคลมแดดได้อย่างไร


รู้จักโรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด)

โรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งมักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง โดยภาวะฮีทสโตรกมักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ที่สำคัญหากด้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย โดยบางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้


ใครที่มีความเสี่ยงโรคลมแดด

-เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
-ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน
-ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
-ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
-ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
-ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
-ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
-แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
 

Image
3

 

อาการของโรคลมแดด

โรคลมแดดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่สัมผัสกับอากาศร้อน แต่เกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกายได้ 
-มีไข้สูงเกินตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
-พฤติกรรมหรือสภาพจิตใจเปลี่ยนไป เช่น สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ ชัก หรือโคม่า
-หากเป็นโรคลมแดดจากอากาศร้อน ผิวจะแห้งและร้อน
-หากเป็นโรคลมแดดจากการออกกําลังกายอย่างหนัก ผิวจะแห้งและชื้นเล็กน้อย
-คลื่นไส้และอาเจียน
-ผิวหนังแดงขึ้น
-หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบถี่
-ปวดหัวตุบๆ

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หลักการสำคัญในการปฐมพยาบาล พบคนเป็นลมแดด ควรดูแลให้ดีก่อนนำส่งโรงพยาบาล รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง ให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

Image
2

 

การป้องกันโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

-หลีกเลี่ยงอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียลขึ้นไป
-ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมที่มี  SPF 50+ ขึ้นไป สวมหมวกปีกกว้าง พกร่ม และแว่นตากันแดด  เพื่อช่วยป้องแสงแดด
-สวมเสื้อผ้าที่บางเบา ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดจนเกินไป
-งดทำกิจกรรมหรืออกกำลังกายในช่วงสภาพอากาศร้อน ถ้าเป็นไปได้ให้ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นแทน
-จิบดื่มน้ำบ่อยๆ และให้เพียงพอเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ
-ไม่ปล่อยให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้ในที่ที่อากาศร้อน เพราะอุณหภูมิในรถอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 11 องศาเซลเซียสภายใน 10 นาที การจอดรถในที่ร่มหรือเปิดหน้าต่างรถไม่ช่วยให้ไม่เป็นโรคลมแดด
-ระมัดระวังหากกําลังรับประทานยาบางชนิดหรือมีโรคประจำตัวที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการโรคลมแดด


หากมีอาการของโรคลมแดด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หรือความร้อนในร่างกาย ควรหยุดกิจกรรมทันทีและพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคลมแดดสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลาและเหมาะสม ติดตามบทความเกี่ยวกับความสวยความงามต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ Thai Clinics เว็บไซต์ที่รวบรวมคลินิกดีๆ อัปเดตข่าวสารใหม่ๆ เกี่ยวกับการศัลยกรรม เทรนด์ความสวยงามและสุขภาพต่างๆ